Work Clinic 5: ความยุติธรรมของเงินเดือนมีจริงหรือ?
- WINTEGRATE99
- Jul 5, 2019
- 1 min read
Updated: Aug 17, 2021

ที่จริงแล้วอาจจะมีแค่วันเดียว
เงินเดือน คือผลของการต่อรองและตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่พึงพอใจ สัญญาจ้างคงไม่เกิด จึงอาจกล่าวได้ว่า ณ ตอนเริ่มอย่างน้อย ทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่ายุติธรรม
หลังจากเริ่มการทำงานจริงแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างมีมุมมองต่างกันโดยสิ้นเชิง บางคนเศร้าใจทันทีเมื่อทราบว่ามีคนได้เงินเดือนเยอะกว่าตน บางคนบ่นว่างานหนักขึ้นเงินเดือนไม่ขึ้น และก็มีบางคนรู้สึกงานน้อยไปจนรู้สึกว่าทำงานไม่คุ้มเงินเดือน
ความรู้สึกไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นเพราะแต่ละฝ่ายมีมุมมองต่างกัน เช่น
1. พนักงานต้องการได้เงินเดือนเพิ่มก่อนจึงจะทำงานเพิ่ม ส่วนนายจ้างอยากเห็นว่าพนักงานทำงานเพิ่มได้แน่ๆแล้วจึงจะปรับเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่งให้ และรับเงื่อนไขทางกฏหมายว่าไม่สามารถลดเงินเดือนหรือลดตำแหน่งพนักงานได้
2. พนักงานคิดว่าตนเองสมควรได้เงินเดือนเท่ากับคนอื่นๆ ที่ทำหน้าที่เดียวกัน ส่วนนายจ้างพร้อมให้เงินเดือนพนักงานบางคนสูงกว่าถ้าเป็นช่วงขาดแคลน หรือให้เพิ่มสำหรับคุณสมบัติพิเศษ เช่น เกียรตินิยม หรือมีประสบการณ์ แม้จะให้ปฏิบัติงานตำแหน่งเดียวกันก็ตาม เพื่อมีกำลังพร้อมสำหรับโอกาสในอนาคต
3. พนักงานอยากให้เงินเดือนปรับสะท้อนปริมาณงานหรือความยากมากขึ้นอย่างทันทีทันใด (แต่ถ้างานน้อย หรืองานง่ายลงไม่พร้อมเงินเดือนลดลง) ส่วนนายจ้างสะดวกปรับเงินเดือนเพียงปีละครั้งหรืออย่างมากก็ทุกไตรมาส ไม่มีนายจ้างใดปรับค่าตอบแทนตลอดเวลา มีเพียงค่าล่วงเวลาที่เป็นส่วนเพิ่มตามปริมาณงาน แต่ไม่มีการปรับสำหรับงานที่ยากขึ้นที่ไม่นอกเวลา
ในมุมมองคนกลางอย่างดิฉัน เห็นว่าทั้งสองฝ่ายสลับกันได้เปรียบเสียเปรียบกันตลอดเวลา
***คำแนะนำเพื่อลดโอกาสอกหักสำหรับฝ่ายพนักงาน คือ ไม่รับรู้และไม่เปิดเผยเงินเดือนใคร พร้อมทำงานเกินหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้เข้าตากรรมการ พร้อมๆ กับสะสมคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติม หากผลประเมินประจำปีทำให้คุณอกหัก คุณก็ยังมีทางเลือกที่สามารถมองหานายจ้างใหม่ที่คุณพร้อมจะต่อรองอีกครั้งเพื่อค่าตอบแทนที่ยุติธรรมใหม่***
สุดท้าย อย่าลืมว่า นอกจากรอคอยการปรับเงินเดือนที่ยุติธรรมซึ่งรอลุ้นปีละหนแล้วคุณสามารถสร้างความสุขรายวันจากงานในรูปแบบต่างๆ ได้ทุกวันด้วยตัวเอง
คราวหน้ามาพูดถึง ความยากขององค์กรในการ Put the right man in the right job ในความเป็นจริง
โดย ดร.วรัญญา อัจฉริยะชาญวณิช
Line: @wintegrate99
Comments